Chapter 9 : บ้านเพื่อการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ
Updated: Jun 12, 2019
Green way
Chapter 9 : บ้านเพื่อการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ
อย่างที่ผมเคยเกริ่นไปบ้างแล้วในฉบับบก่อนๆว่าเรื่องของบ้านกรีน นั้นมากกว่าการประหยัดพลังงานและการเลือกใช้วัสดุ การออกแบบบ้านเพื่อให้เหมาะสมกับสุขภาพกายและใจของผู้อยู่อาศัยก็ถือได้ว่าเป็นการออกแบบบ้านกรีนอีกแบบนึง
โดยเฉพาะในสังคมไทยของเราที่เป็นครอบครัวขยาย ส่วนใหญ่นั้นมีการอยู่อาศัยกันแบบเครือญาติ ที่มี คุณลุง คุณป้า คุณตา คุณยายอาศัยร่วมกันกับครอบครัวที่มีพ่อแม่ลูกเป็นครอบครัวหลัก วันนี้ผมจึงอยากจะพูดถึงการออกแบบบ้านที่เป็นประโยชน์ต่อการอยู่อาศัยของผู้สูงอายุ
อย่างที่เราทราบกันดีว่า ผู้สูงอายุที่ต้องการการดูแลใส่ใจนั้นมีหลายช่วงวัย คงจะเป็นการยากที่จะพูดถึงการออกแบบที่เหมาะสมกับทุกกรณี ดังนั้นผมจึงอยากที่จะเสนอเป็นเพียงกรอบแนวคิดมากกว่าวิธีการออกแบบอย่างเฉพาะเจาะจงนะครับ
รูปแบบการอยู่อาศัยของผู้สูงอายุในบ้านน่าจะต้องการสิ่งใดบ้าง
เรื่องที่ต้องคิดถึงเป็นอันดับแรกคือ ความสะดวกสบายและความปลอดภัยในการเดินในบ้านและนอกบ้าน ควรหลีกเลี่ยงการใช้การเปลี่ยนระดับโดยการใช้บันไดหรือเปลี่ยนระดับให้น้อยที่สุด หรือการเตรียมทางลาดและระยะความกว้างในการเดิน และ ประตู ให้เหมาะสมกับรถเข็น ที่อาจจะมีความจำเป็นที่จะต้องใช้ในอนาคตรวมถึง การใช้วัสดุปูพื้นที่ไม่ลื่นหรือขรุขระจนเกินไปและมีราวจับในบริเวณที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เช่น ทางลาด ห้องน้ำ ทางเดินที่มีระยะยาว เป็นต้น
พื้นที่การใช้งานที่เป็นสัดส่วน และเป็นส่วนตัว มีระยะการเดินที่พอเหมาะ มีพื้นที่เพียงพอต่อการใช้งานในชีวิตประจำวัน เนื่องจากผู้สูงอายุมักจะเป็นบุคคลที่ใช้เวลาอยู่อาศัยในบ้านมากที่สุด ห้องของผู้สูงอายุควรจะอยู่ที่ชั้นล่างที่สุดของบ้านเพื่อการถึงที่สะดวก และ เป็นบริเวณที่คนในบ้านเข้าถึงได้ง่าย และสามารถเข้าถึงได้โดยตรงจากการจอดรถ เพื่อรับมือกับเหตุการณ์ฉุกเฉิน
การออกแบบภายในบ้านให้เหมาะสมกับการใช้งาน เช่นตู้ ชั้นวางของ โต๊ะ ที่ไม่ทำให้เกิดอุบัติเหตุได้โดยง่าย ความสูงที่เหมาะสมกับการใช้งาน ที่ผู้สูงอายุเอื้อมและหยิบจับถึงจากรถเข็น รวมถึงอุปกรณ์ภายในบ้านที่ใช้งานได้ง่ายไม่ซับซ้อน เช่นประตู หน้าต่าง กลอนประตู ลูกบิด เครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ
สภาพของบ้านที่ทำให้เกิดความรู้สึก และบรรยากาศที่ดี ที่ทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกตื่นตัวและทำกิจกรรมที่ตัวเองชอบ ในบริเวณที่สามารถมองเห็นทิวทัศน์ภายนอก ได้รับแสงและลมธรรมชาติ รวมถึงบริเวณชาน สนาม และสวนที่เข้าถึงได้ง่ายเพื่อการการทำกิจกรรมหรือเดินเล่นได้อย่างปลอดภัย
การใช้ชีวิตร่วมกับคนในบ้าน ไม่รู้สึกว่าถูกตัดขาด ไม่ว่าจะเป็นทางการมองเห็นหรือการได้ยิน มีการเชื่อมต่อระหว่างชั้น1 และชั้น2 (double space) หรือควรมีพื้นที่ที่มีการใช้งานร่วมกันของคนในบ้านกับผู้สูงอายุ เช่น ห้องทานอาหารที่อยู่ได้และให้ทุกคนในบ้านได้ทานอาหารหรือใช้เวลาร่วมกันได้
การออกแบบภายในและภายนอกที่คำนึงถึงสุขภาวะของผู้สูงอายุ เช่น การวางห้องในทิศตะวันตกที่โดนแดดมากจะทำให้ห้องผู้สูงอายุไดรับความร้อนมากเกินไปทำให้ความร้อนระอุแผ่เข้ามาในเวลาที่เปิดแอร์ทำให้ไม่สบายได้ ความสว่างที่มากเกินไปทำให้ไม่สบายทางสายตาและนอนกลางวันไม่สะดวก รวมถึงตำแหน่งการติดตั้งเครื่องปรับอากาศภายในห้องที่ทำให้ลมเย็นพัดมาที่ผู้สูงอายุโดยตรงก็ทำให้กระทบต่อสุขภาพได้
เมื่อจำเป็นต้องมีผู้ดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วย พื้นที่ของผู้ดูแลถือว่าเป็นเรื่องสำคัญที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะสุขภาพจิตของผู้ดูแลส่งผลโดยตรงต่อผู้ถูกดูแล การเตรียมพื้นที่ในห้องผู้สูงอายุสำหรับผู้ดูแลควรคำนึงถึง การดูแลที่ต้องเป็นไปได้ตลอดเวลาหรือมองเห็นผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยได้ตลอดแต่ในขณะเดียวกันก็มีพื้นที่สำหรับ นั่งพักผ่อน นอน เก็บของส่วนตัวอย่างเป็นสัดส่วนพอสมควร
ในด้านการออกแบบบ้านเพื่อผู้สูงอายุ ดูๆไปแล้วก็คงไม่ต่างจากโรงพยาบาลสักเท่าไร แต่จริงๆแล้วสิ่งที่ทำให้ผู้สูงอายุมีความสุขในบ้านนั้นอาจจะไม่ได้อยู่ที่ตัวบ้านซะด้วยซ้ำ แต่น่าจะมาจากความรัก ความเอาใจใส่กัน ของคนที่อยู่ร่วมกันในบ้านมากกว่า
ขอให้ทุกๆท่านที่ติดตามอ่าน Green Way และผู้สูงอายุของท่านอยู่รวมกันในบ้านอย่างมีความสุขนะครับ
Recent Posts
See AllGreen Way Chapter 15 : การออกแบบบ้านเพื่อการป้องกันความร้อน การออกแบบบ้านโดยเน้นเรื่องการติดแอร์ให้ประหยัดพลังงานในบ้านเพื่อทำให้บ้านเย็น...
Green way Chapter 14: การใช้น้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุดภายในอาคาร วันนี้เรื่องที่เราจะพูดถึงกันเป็นหมวดที่สองที่อยู่ในการประเมินอาคารของ...
Green way Chapter 13: ที่ตั้งโครงการอย่างยั่งยืนในนิยามของ LEED (3) “เสียสละเพื่อส่วนรวม” คำๆนี้ พูดง่ายแต่ทำยากนะครับ เพราะว่า...
Comments